ข่าวสารและกิจกรรม

ผลการประกวดโครงการพัฒนาชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืนของนิสิตนักศึกษา ประจำปี 2566

2023 Rakkaew National Exposition : University Sustainability Showcase

กรุงเทพฯ  9 กันยายน 2566 – การประกวดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนประจำปีนี้ หรือ “2023 Rakkaew Foundation National Exposition : University Sustainability Showcase“ ปรากฎว่าทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คว้าชัยชนะเป็นทีมชนะเลิศระดับประเทศประจำปี 2566 และได้รับเงินสนับสนุนโครงการจำนวน 100,000 บาท ด้วยผลงานโครงการวิศวกรรมอาสาพัฒนาชนบท ดำเนินการในพื้นที่บ้านเชตวัน ต.สันทะ อ.นาน้อย จ.น่าน ที่ประชากรส่วนใหญ่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ เกิดการเผาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษจากการเผาผืนป่า สภาพดินและระบบนิเวศน์ถูกทำลาย รายได้ไม่มั่นคง ทีมนิสิตจุฬาฯ ได้เริ่มสำรวจพื้นที่และดำเนินโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนตั้งแต่ปี 2561 เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้สิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ดำเนินโครงการต่อเนื่องโดยใช้ความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ เริ่มจากการสร้างฝายยกระดับ ฝายตาน้ำ สร้างแหล่งน้ำสำหรับการบริโภค สร้างระบบกระจายน้ำโดยใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำ สามารถนำน้ำมาอุปโภค บริโภค และใช้ในการปลูกพืชแบบผสมผสานได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ สามารถเพิ่มพิ้นที่สีเขียวได้ 200 ไร่ ที่ดินรับน้ำ 400 ไร่  ร้อยละ 50 ของคนในชุมชนมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกพืชแบบผสมผสาน เพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อไร่ได้ 7.75 เท่าเมือเทียบกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลาดชุมชนมีสินค้าหลากหลายมากขึ้น ลดการนำเข้าของสินค้าเกษตรจากนอกพื้นที่  ทางด้านสิ่งแวดล้อมชุมชนลดการเผาป่า ส่งผลให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาต้นข้าวโพด ซึ่งก่อให้เกิดมลพิศทางอากาศ (PM 2.5)  จากความสำเร็จนี้ ทำให้ชุมชนเชื่อมั่นและโครงการฯได้รับความร่วมมือจากชุมชน เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาที่ดินจากภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นพื้นที่ที่พร้อมประกอบอาชีพ ด้วยระบบของตัวเอง

รองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ทำเรื่องอนุรักษ์ผ้าทอไทย ในโครงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม บนผืนผ้า โดยมีผลสำเร็จของโครงการ ทางด้านเศรษฐกิจ สร้างลวดลายผ้าทอลายใหม่ให้กับชุมชนได้ถึง 25 ลาย ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหม (ตรานกยูงพระราชทาน) นกยูงทอง และลวดลายปูนาปลาช่อน ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 90 ลายผ้าอัตลักษณ์ที่ได้ตีพิมพ์ในเอกสารรายงานเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ผู้สูงอายุ ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 52.39%  จำนวน 143,650 บาทต่อปี จากการทอผ้าลายใหม่ๆ และสีสันตรงกับความต้องการของตลาด ด้านสังคม สมาชิกกลุ่มผ้าทอมือทั้ง 43 คน ได้รับการพัฒนาทักษะด้านกระบวนการผลิต การออกแบบ การตลาด และการประชาสัมพันธ์ โดยในช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ยังสามารถสร้างงานให้กลับกลุ่มวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 15 คน นอกจากนั้นโครงการยังสร้างกลุ่มเยาวชนที่ใช้ชื่อเรียกว่า “Young ผการันดูล จำนวน 23 คน ที่ได้เรียนรู้ในเรื่องผ้าไหม และด้านสิ่งแวดล้อม โครงการยังส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ ลดการใช้ทำให้ผ้าไหมมีความเป็นธรรมชาติ และปลอดภัยต่อผู้สวมใส่

รองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในชื่อโครงการยุวชนอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในทางปฏิบัติ แก้ปัญหาชุมชนด้านความยากจนและคุณภาพชีวิตให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันได้มุ่งพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ในชุมชนสถานีอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการ ทางด้านเศรษฐกิจ คือ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการวางแผนการขายของผ่าน Google sheet เกิดนวัตกรรมสร้างสรรค์  SMEs ได้แก่ กระเป๋าสานด้วยยางธรรมชาติ นำรายได้สู่การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการสร้างตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook ด้านสังคม เด็กและเยาวชนรู้เก็บ รู้ใช้ รู้ออม และการมีสุขภาวะกายจิต และสังคมองค์รวมที่ดี และด้านสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณขยะ ด้วยนวัตกรรมเส้นหวายเทียมจากยางพาราซึ่งเป็นยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก

  • รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางเศรษฐกิจ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โครงการ “จาก” วิถีชีวิต สู่เศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จาก “ต้นจากทะเล Nypa Palm”
  • รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางสังคม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคนพิการ  “เฮ็ดดิคราฟ”
  • รางวัลโครงการพัฒนาดีเด่นทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลน ต้นทุนจากภูมิปัญญาซั้งปลา
  • รางวัลชมเชย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โครงการ “สวนเกษตร ครูน้อย”  มหาวิทยาลัยทักษิณ โครงการ “ตรวจจับน้ำมันรั่วด้วยเซนเซอร์ความจุไฟฟ้า”  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  โครงการ “SoChange & SoChamp”

การประกวดผลสำเร็จของโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน 2566 หรือ “2023 Rakkaew  National Exposition: University Sustainability Showcase” จัดโดยมูลนิธิรากแก้วที่ดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 16 ปีในการส่งเสริม สนับสนุน สร้างกระบวนการ เตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้าใจปัญหาสังคม และมีจิตสำนึกในการช่วยเหลือสังคม  โดยโครงการรากแก้วมีวัตถุประสงค์นิสิตนักศึกษารวมกลุ่มกัน คิดและลงมือทำโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของการจริงของชุมชนหรือกลุ่มคนที่ประสบปัญหาด้านต่าง ๆ และนำความรู้จากห้องเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพ มาพัฒนาเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยมีผู้สนับสนุนหลักได้แก่  เคพีเอ็มจี ประเทศไทย  บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  ที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการมายาวนาน และมูลนิธิเอสซีจี

ประธานมูลนิธิรากแก้ว ศ.ดร. สัมพันธ์ ฤทธิเดช กล่าวว่า       การทำโครงการรากแก้วเปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการเรียนรู้
ให้นิสิตนักศึกษา ได้สัมผัสเรียนรู้ปัญหาชุมชนและสังคมไทย และได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ ระหว่างการทำโครงการ นอกจากนี้ มูลนิธิรากแก้วยังสร้างโอกาสและพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงา และผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ทำขึ้นจริงร่วมกับชุมชนและสังคม ออกไปสู่สายตาของสาธารณชน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
Covid-19 เริ่มดีขึ้น มูลนิธิฯ จึงจัดพื้นที่การแสดงศักยภาพของนิสิตนักศึกษาเพื่อ กระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้นิสิตนักศึกษาได้กลับมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน จึงได้เชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศส่งโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเกณฑ์โครงการรากแก้ว โดยในปี 2566 นี้ มีมหาวิทยาลัย 35 แห่งทั่วประเทศส่งโครงการฯจำนวน 52 โครงการ และ มูลนิธิฯ ได้พิจารณาคัดเลือก 18 โครงการจาก 16 มหาวิทยาลัยเข้ามานำเสนอและแสดงผลสำเร็จของโครงการ โดยโครงการทั้ง 52 โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5,261 คน“

หลังจากนี้มูลนิธิฯได้วางแผนการทำประชาสัมพันธ์การเปิดรับโครงการปี 2567 โดยเน้นการสร้างความเข้าใจกับผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้นำนิสิตนักศึกษาสถาบันอุดมศึกษาตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป จัดกิจกรรมสัมมนาผู้นำนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์เพื่อเสริมศักยภาพ ความรู้ด้านการพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืน ขยายเครือข่ายนิสิตนักศึกษาขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ มูลนิธิฯจะเชื่อมโยงการสนับสนุนจากภาคธุรกิจให้กับทีมที่เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคำแนะนำในการพัฒนาโครงการ และเงินทุน ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ ได้จัดเตรียมหาเวทีประกวดในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก เพื่อให้ทีมชนะเลิศประจำประเทศไทย ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นผู้นำในอนาคตที่มีจิตใจรับใช้สังคม สามารถร่วมพัฒนา แก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน  

แชร์ข่าวสาร :