ข่าวสารและกิจกรรม

งานแสดงผลงาน และนำเสนอโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนของนิสิตนักศึกษา ระดับประเทศ ประจำปี 2567

2024 Rakkaew Foundation National Exposition: University Sustainability Showcase

กรุงเทพฯ 23-24 สิงหาคม 2567 – มูลนิธิรากแก้วได้จัดงาน “2024 Rakkaew Foundation National Exposition: University Sustainability Showcase” เพื่อแสดงผลงานและนำเสนอโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนของนิสิตนักศึกษาระดับประเทศ โดยในปีนี้ ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคว้ารางวัลโครงการระดับ Platinum ดีเด่นพร้อมโล่เชิดชูเกียรติ ตัวแทนอาจารย์ นิสิตนักศึกษาเข้าร่วมสังเกตการณ์งาน 2024 Enactus World Cup ที่ประเทศคาซัคสถาน มูลค่ากว่า 150,000 บาทต่อทีม

การนำเสนอโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนของนิสิตนักศึกษา ระดับประเทศ ประจำปี 2567 หรือ “2024 Rakkaew National Expo” จัดโดยมูลนิธิรากแก้ว ซึ่งดำเนินงานมากว่า 17 ปี ในการส่งเสริม สร้างแรงบันดาลใจ สร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน พัฒนาศักยภาพและทักษะด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมทำประโยชน์ให้ผู้อื่น สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยใช้พลังจากธุรกิจขับเคลื่อน นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการรวมกลุ่มกันคิดและลงมือทำโครงการที่ตอบโจทย์ปัญหาจริงของชุมชนใกล้ตัว โดยนำความรู้ทางธุรกิจ แนวทางของผู้ประกอบการ นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และวิธีการใหม่ ๆ มาดำเนินโครงการ สร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน โดยมีผู้สนับสนุนหลัก ได้แก่ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ ประเทศไทย และมูลนิธิเอสซีจี

ทีมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้นำเสนอผลงาน “ส่งเสริมสืบสานงานมรดกทางวัฒนธรรมอิสานใต้ หัตถกรรมพื้นบ้านจักสานผ้าทอ” ที่ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชนจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถึง 3 เท่า และเพิ่มรายได้รวม 63% เมื่อเทียบกับปี 2566 นอกจากนี้ โครงการยังมีความสำเร็จในด้านสังคม โดยสร้างกลุ่มเยาวชนช่างฝีมือกว่า 20 คนที่เชี่ยวชาญในงานจักสานและผ้าทอ รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน ในด้านสิ่งแวดล้อม มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ในการผลิตทั้งหมด และนำภูมิปัญญาการรมควันเพื่อป้องกันมอด เพิ่มความคงทนให้กับผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยของผู้บริโภค

 

ส่วนทีมนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอโครงการ “นวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโกโก้จากการจำหน่ายผลโกโก้ตกเกรดและของเหลือทิ้งอย่างน้อย 15% นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนคุณภาพอีก 15% ขณะเดียวกันโกโก้ตกเกรดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น 100% และช่วยลดค่าอาหารโคขุนคุณภาพเฉลี่ย 35% ต่อวัน ในด้านสังคม โครงการได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เกิดเป็นชุมชนเกษตรแห่งการเรียนรู้ ศูนย์กลางธุรกิจโกโก้ครบวงจรนอกจากนี้ยังช่วยลดของเหลือทิ้งทางการเกษตรจากโกโก้ตกเกรดได้ 100% สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลโกโก้ตกเกรดจาก 0 บาทเป็น 2 บาทต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตปศุสัตว์ด้วยสูตรอาหารที่ยับยั้งการผลิตก๊าซมีเทนในกระเพาะโค

นอกจากนี้โครงการระดับ Platinum ลำดับ 3 ได้แก่ทีมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับโครงการ “เด็กกำปุ๋ย” ที่มุ่งพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำผ่านการจัดการผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัจฉริยะจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ลดปัญหาการเผาวัสดุการเกษตร ลดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้สารเคมี สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มรายได้เป็น 16 เท่า จากปีแรก เกิดธุรกิจเกื้อกูล เกิดห่วงโซ่คุณค่าไปยังกลุ่มปลูกผัก และข้าวอินทรีย์ในชุมชน ชุมชนเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงยุคโลกเดือด 

และทีมลำดับที่ 4 คือทีมนักศึกษาจากสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย กับโครงการ “STIN อาสา พัฒนาชุมชนเตรียมพร้อมรับสาธารณภัย” ที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับสาธารณภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหาย และสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ทีมได้พัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ของประชาชน ลดความยากจน ฐานการตลาดในธุรกิจชาเพิ่มมากขึ้น เยาวชนและชุมชนสามารถดูแลตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน สามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้มากขึ้น

ประธานกรรมการมูลนิธิรากแก้ว ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กล่าวว่า “ในปี พ.ศ. 2567 นี้ มีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 40 แห่ง ส่งโครงการเข้าร่วมจำนวน 60 โครงการ และมูลนิธิฯ ได้คัดเลือกโครงการ 26 โครงการ จาก 22 สถาบันฯ ทั่วประเทศ และเชิญมาจัดแสดงผลงานและนำเสนอผลลัพธ์ของความพยายามของนิสิตนักศึกษาในการนำความรู้ที่เรียนมาไปลงมือปฏิบัติจริงเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนบนเวที ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ต่างสถาบันฯ และเป็นโอกาสในการได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนิสิตนักศึกษาได้นำไปพัฒนาโครงการต่อไป การทำโครงการรากแก้ว ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้สัมผัส เรียนรู้ และเข้าใจปัญหาของชุมชนและสังคมไทย และได้พัฒนาทักษะในอนาคตด้านต่างๆ ของนิสิตนักศึกษา เช่น ทักษะชีวิต การคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ การสื่อสาร ความเป็นผู้นำ ตลอดจนเป็นการปลูกฝังความเป็นพลเมือง”

สำหรับโครงการปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิฯ จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาทักษะนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นการดำเนินโครงการที่มีการขับเคลื่อนโดยธุรกิจ หรือ โครงการธุรกิจเพื่อสังคม โดยขณะนี้มูลนิธิฯ อยู่ระหว่างการเจรจากลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ ENACTUS (หรือ ชื่อเดิม SIFE) องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลก ที่มีเครือข่ายสมาชิกในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและเป็นเวทีให้นิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์การทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นการยกระดับศักยภาพการทำโครงการของนิสิตนักศึกษาไทยสู่ระดับโลก โดยจะทำการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้นำนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อส่งทีมตัวแทนของมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินโครงการตรงตามเกณฑ์ของ ENACTUS โดยมีนำแนวทางและทัศนคติของผู้ประกอบการ หลักทางธุรกิจ นวัตกรรม ไปสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนมากที่สุด และคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดระดับโลก Enactus World Cup ที่จะจัดขึ้นทุกปี นอกจากนี้ มูลนิธิฯ จะเชื่อมโยงการสนับสนุนจากภาคธุรกิจให้กับทีมที่เข้าร่วมโครงการทั้งในด้านคำแนะนำในการพัฒนาโครงการ ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือ change agent ที่มีความเป็น global citizen มีจิตสำนึกรับใช้สังคม สามารถร่วมพัฒนา แก้ไขปัญหา และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน

แชร์ข่าวสาร :